อัพเดตรถไฟฟ้า 11 เส้นทาง 7 ปี “ประยุทธ์” ทุ่ม 1.5 ล้านล้าน

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

7 ปีของรัฐบาลในยุค “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในการวางโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล ตอกเสาเข็ม-มุงหลังคาสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์รวมระบบรางเร็ว-รางด่วน 1.5 ล้านล้านบาท

การบริหารจัดการรถไฟฟ้า ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 11 เส้นทาง ประกอบด้วย สีเขียว สีแดง สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเหลือง สีม่วง สีเทา สีน้ำตาล สีฟ้า และสีทอง

โดยทยอยเปิดให้บริการประชาชนปีละ 30-40 กม.ในช่วงปี 2565-67และอยู่ระหว่างก่อสร้าง การประกวดราคา และศึกษาการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) อีกหลายโครงการ

มหากาพย์สายสีเขียว
ทว่า มหากาพย์การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นหนังม้วนยาว แม้จะเบ็ดเสร็จตั้งแต่ยุคบิ๊กตู่-พล.อ.หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ไม่สะเด็ดน้ำ

อย่างไรก็ดี สายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีเขียวอ่อน ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดเพิ่ม 7 สถานี โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปกดปุ่มเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563

รวมถึงสายสีเขียวเข้ม ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดให้บริการแล้วแต่ยังคง “ขึ้นฟรี” เพราะยัง “ปิดดีล” สัมปทานสายสีเขียวตลอดเส้นทาง 30 ปี “ไม่ลงตัว”

ส่วนต่อขยายสายสีแดงถึงไฮสปีดเทรน
ขณะที่โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงประกอบด้วย สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร 10 สถานี และสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร 3 สถานี เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564

ขณะที่โครงการสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มีแนวคิดจาก “เจ้ากระทรวงราชรถ” จะนำงานโยธามาก่อสร้างก่อน อยู่ระหว่างศึกษาของ ร.ฟ.ท. คาดว่าจะรู้ผลต้นปี 2565 ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง ซึ่งเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” กับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน รอต่อเป็นคิวท้าย ๆ

นอกจากนี้ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายแล้วเสร็จในอนาคตจะให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เต็มรูปแบบ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ

โครงการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท เป็นระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อจากระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ

จุดเริ่มต้นโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 แนวเส้นทางต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีหลักสอง

ลักษณะเส้นทางเป็นทางยกระดับไปตามเกาะกลางของถนนเพชรเกษม ข้ามแยกเพชรเกษม-พุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งจะมีโครงการสะพานข้ามแยกในอนาคต

จากนั้นแนวเส้นทางจะลดระดับลงเพื่อลดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงบริเวณหน้าโรงไฟฟ้าบางกอกน้อย แล้วจึงยกระดับขึ้นไปยังสถานีพุทธมณฑลสาย 2 (BS21) และยกระดับเพิ่มขึ้นเพื่อข้ามโครงการสะพานข้ามแยกไปยังสถานีทวีวัฒนา (BS22)

คงระดับเดิมต่อไปจนถึงสิ้นสุดโครงการผ่านสถานีพุทธมณฑลสาย 3 (BS23) ข้ามแยกเพชรเกษม-พุทธมณฑลสาย 3 และโครงการสะพานข้ามทางแยกวิ่งข้ามทางแยกมาเจริญ (ซอยเพชรเกษม 81) และโครงการสะพานข้ามแยกเข้าสู่สถานีพุทธมณฑลสาย 4 (BS24) ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของโครงการ โดยจะมีอาคารจอดแล้วจรทั้ง 2 ฝั่งของสถานี รวมระยะทาง 8 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี และอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง

ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เงินลงทุน 3,920 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 10,870 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้า 6,407 ล้านบาท รวม 21,197 ล้านบาท

สายสีม่วงรอเคาะผู้ชนะการประมูล
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) 78,712 ล้านบาท ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร 17 สถานี 10 สถานีใต้ดิน ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร 7 สถานียกระดับ ระยะทาง 10.0 กิโลเมตร

ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดจำหน่ายเอกสารการประกวดราคา (TOR) ระหว่างวันที่ 11 พ.ย.- 24 ธ.ค. 64 และจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 27 ธ.ค. 64 คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูล และลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลได้ประมาณเดือน ก.พ. 65 โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2570

ส้ม-ชมพู-เหลือง คืบ 80%
ขณะที่สายสีส้ม-ชมพู-เหลือง สถานะการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.57 กิโลเมตร 113,279 ล้านบาท ความก้าวหน้างานโยธา 88.46% ส่วนงานระบบรวมในการประมูลงานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 122,041 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร 53,490 ล้านบาท ความก้าวหน้างานโยธา 84.45% และความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 80.62% เท่ากับความก้าวหน้าโดยรวม 82.96% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร 51,810 ล้านบาท ความก้าวหน้างานโยธา 89.51% และความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 84.91% เท่ากับความก้าวหน้าโดยรวม 87.52% คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงกลางปี 2565

รางเบา-โมโนเรลศึกษา 4 เส้นทาง
โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) สายสีเทา 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทางรวม 16.3 กม. วงเงินการก่อสร้าง 27,500 ล้านบาท มีสถานีทั้งหมด 15 สถานี ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 และระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3-ท่าพระ รวมระยะทางประมาณ 40 กม. ทั้ง 3 ระยะอยู่ระหว่างรอผลศึกษาจบสิงหาคม-กันยายน 2565 คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573

โครงการรถไฟฟ้า monorail สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร รวม 20 สถานี วงเงินลงทุน 48,386 ล้านบาท แบ่งออกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,254 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 20,864 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานระบบ 19,013 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,255 ล้านบาท

เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทางรางจำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ บริเวณแยกแคราย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงฯ ที่แยกบางเขน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ที่แยกเกษตรฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาฯ ที่แยกทางต่างระดับศรีรัช โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และสีเหลืองฯ ที่แยกลำสาลี

ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปี 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 โดยจะเปิดให้บริการในปี 2570

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการก่อสร้างฐานรากตอม่อร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 (แคราย-ม.เกษตรฯ) และช่วงทดแทน N2 (เกษตร-นวมินทร์) จึงต้องรอผลการเจรจากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อน

โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) สายสีฟ้า ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กม. วงเงินลงทุน 27,892 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งมีการจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการใหม่ช่วงกลางปี 2564 คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2565 จากนั้น กทม.จะนำเสนอโครงการตามขั้นตอนให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในปี 2566

โครงการรถไฟฟ้าขนาดรองสายสีทองระยะที่ 1 ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร 3 สถานี 13,520 ล้านบาท ทดลองเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564

โดยมีแผนระยะที่ 2 ก่อสร้างสถานีอีก 1 สถานี บริเวณด้านหลังอนุสรณ์สถานงานสมโภช 100 ปี เขตคลองสาน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และส่วนต่อขยายเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ