กลุ่มเจ้าสัวเจริญ แพลนแยก บิ๊กซี จาก BJC เข้า IPO อีกครั้ง ภายในปี’66

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน กลุ่มเจ้าสัวเจริญ เตรียมแยกบิ๊กซี ออกจาก BJC เพื่อกลับเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งภายในปี 2566 หวังเข้าระดมทุน IPO ได้ 1.9 หมื่นล้าน

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 บลูมเบิร์ก รายงานอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวระบุว่า บิ๊กซี (Big C) ธุรกิจค้าปลีกภายใต้ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) หนึ่งในธุรกิจของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ถูกวางแผนแยกออกมาเพื่อเตรียมกลับเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง โดยคาดว่าจะระดมนุทได้สูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท

รายงานระบุว่า บิ๊กซี กำลังพิจารณาข้อเสนอการขายหุ้น IPO จากวาณิชธนกิจ (Investment Bank) ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า การ IPO อาจเกิดขึ้นภายในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กได้สอบถามเพิ่มเติมไปยังฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของ BJC ได้รับข้อมูลมาว่า ยังไม่มีข้อมูลการ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อย่างใด

สำหรับ บิ๊กซี เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ เปิดดำเนินการสาขาแรกที่ ถ.แจ้งวัฒนะ ก่อนจะเจอพิษเศรษฐกิจช่วงปี 2540 และได้กลุ่มคาสิโน (Casino Group) อีกหนึ่งยักษ์ค้าปลีกจากฝรั่งเศส เข้ามาถือหุ้นใหญ่แทนกลุ่มเซ็นทรัล

จากนั้น บิ๊กซี เติบโตอย่างต่อเนื่องและเพิ่มรูปแบบห้างค้าปลีกให้หลากหลายขึ้น กระทั่งปี 2553 ที่กลุ่มคาสิโน ประมูลเข้าซื้อกิจการ คาร์ฟูร์ ประเทศไทย 42 สาขา มูลค่า 686 ล้านยูโร มาครอบครอง พร้อมเพิ่มรูปแบบสาขาใหม่อีกคร้ัง และในปี 2555 บิ๊กซี สามารถระดมทุนจากการ IPO ได้มากถึง 4.2 พันล้านบาท

กระทั่งปี 2559 กลุ่มคาสิโน ประสบปัญหาทางการเงินอย่างมาก จึงตัดสินใจเปิดประมูลกิจการ บิ๊กซี ในไทย เวียดนาม และลาว โดยกลุ่มทีซีซี ของ เจ้าสัวเจริญ ชนะการประมูลกิจการบิ๊กซีในประเทศไทย มูลค่า 2 แสนล้านบาท จากนั้นจึงถอน บิ๊กซี ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และย้ายมาเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC)

ย้อนรายได้ กลุ่มค้าปลีก BJC ไตรมาส 2 เพิ่ม 2 พันล้าน
สำหรับรายได้ธุรกิจค้าปลีก BJC รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า รายได้รวมกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 27,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,597 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่จำนวนสาขาของบิ๊กซี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 รวมทั้งสิ้น 1,792 แห่ง (รวมทุกห้างค้าปลีกภายใต้แบรนด์ “บิ๊กซี” และร้านขายยา “เพรียว”)

 

 

ตั้งเป้าปี 2569 เพิ่มสาขาใหม่-รีโนเวตสาขาเดิม

ก่อนหน้านี้ นางสาวภัทรดา นิธิวรรณกุล นักลงทุนสัมพันธ์อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยแผนการขยายสาขาว่า ในปี 2565 มีแผนจะขยายสาขา อาทิ ขยายสาขาเพิ่ม อาทิ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดเพลส 5 สาขา บิ๊กซี มินิ 100 สาขา ในประเทศไทย บิ๊กซี มินิ 50 สาขา ในกัมพูชา รวมถึงร้านขายยาเพรียว 7 สาขา และร้านขายยาสิริฟาร์มา 2 สาขา

โดยวางงบประมาณลงทุนในปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 10,000-11,000 ล้านบาท ใช้เพื่อการขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ประมาณ 62%

บริษัทวางเป้าหมายสาขาในปี 2569 ไว้ โดยในประเทศไทยมีแผนจะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่ม 7 สาขา เป็น 160 สาขา เปิดร้านสะดวกซื้อเพิ่ม 1,501 สาขา เป็น 2,853 สาขาเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต-ค้าส่งเพิ่ม 25 สาขา เป็น 84 สาขา

ส่วนตลาดในต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา จะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่ม 5 สาขา เป็น 6 สาขา และเปิดร้านสะดวกซื้อเพิ่ม 275 สาขา เป็น 276 สาขา ขณะที่ใน สปป.ลาว จะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตใหม่ 2 สาขา และเปิดร้านสะดวกซื้อ 188 สาขา เป็น 245 สาขา

นอกจากนี้ ในเวียดนามจะเพิ่มศูนย์ค้าส่งและกระจายอาหาร ในชื่อ MM Mega Market อีก 88 สาขา เป็น 113 สาขา จากเดิมที่เปิดไปแล้ว 25 สาขา นอกจากนี้ บีเจซีอาจเข้าซื้อกิจการ MM Mega Market Vietnam (MMVN) ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีแผนรีโนเวตบิ๊กซีในไทยจำนวน 90 สาขา ในช่วงปี 2565-2569 รวมถึงเปิดตัวบิ๊กซีโมเดลใหม่ ในชื่อของบิ๊กซีเพลส (Big C Place) ที่มุ่งจับกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยลงจากหลายเซ็กเมนต์ ด้วยประสบการณ์ช็อปปิ้งใหม่ ๆ ประเดิมด้วยสาขารัชดาภิเษกในปี 2565 นี้ และจะรีโนเวตบางสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯให้เป็นโมเดลนี้เพิ่มอีกในช่วง 5 ปี